เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สูญกว่า 15 ล้าน ปลากดคังเลี้ยงในกระชังอ่างเก็บน้ำเมืองกาญจน์ ตายเรียบ ชาวบ้านที่เลี้ยงหมดตัว วอนรัฐช่วยเหลือ

วันที่ 24 มกราคม 2564 จากเหตุการณ์กลุ่มผู้ทำประมงเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ บ้านโบอ่อง (ใหม่) ม.8 ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากปลากดคังที่เลี้ยงในกระชังตายนับ 100 ตัน มูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท

บริเวณริมฝั่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ บรรดาชาวประมงที่เลี้ยงปลา จำนวน8รายได้นำซากปลากดคัง ที่ตายลอยเป็นแพจำนวนมาก ขึ้นมาจากกระชังเลี้ยงซึ่งมีความยาว 16 เมตร กว้าง 5 เมตร วางกองเรียงรายยาวเหยียดไว้บนฝั่ง ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่ว เพราะไม่รู้จะเอาซากปลาไปทิ้งที่ไหน

นายสมพร พลจันทร์ เจ้าของผู้เลี้ยงปลาที่ประสบเหตุ ปลาในกระชังที่เลี้ยงตายหมดไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดลมพายุกรรโชกแรงมาก โดยที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เกิดคลื่นขนาดใหญ่ไปทั่ว ต่อมาก็เกิดปรากฏการณ์ น้ำในอ่างฯเปลี่ยนจากใสแจ๋ว เป็นสีขุ่นแดง รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาอีก2วัน คือวันที่ 21 ม.ค. ก็พบว่าปลาทุกตัวลอยหัวขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วค่อยๆทยอยตาย จนหมดกระชัง ในเวลารวดเร็ว ในส่วนของผู้เลี้ยงทั้ง 8 ราย
นายสมพรเผยต่อว่า ได้สอบถามเพื่อนผู้เลี้ยงปลาทุกรายจำนวน8ราย ก็ได้รับคำตอบแบบเดียวกันว่า กระชังปลาของเขาก็ได้ รับผลกระทบตายหมดกระชังเช่นกัน แต่ก็มีเจ้าของกระชังปลาบางราย แก้ไขทันโดยใช้เรือลากกระชังปลาไปไว้บริเวณกลางอ่างเก็บน้ำฯ แล้วใช้เครื่องทำออกซิเจนช่วย ก็แก้ไขได้บ้างบางรายเพียงเล็กน้อย โดยความเสียหายในเวลานี้ ราคาซื้อขายปลากดคัง น้ำหนัก3กก.ปัจจุบันกิโลละ 140 บาท รวม 60 กระชัง เสียหายไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท อยากจะวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาให้การช่วยเหลือ ผู้เลี้ยง ทำประมงน้ำจืด พราะทุกคนในขณะนี้ ก็แทบหมดเนื้อหมดตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดปรากฏการณ์น้ำขุ่นเหม็น ทางเขื่อนวชิราลงกรณได้ออกมาชี้แจง สาเหตุของการเกิดน้ำขุ่นและมีกลิ่นเหม็น เป็นเพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “ การพลิกกลับของชั้นน้ำ ” ซึ่งส่งผลให้พื้นน้ำที่มีความกว้างใหญ่และลึก เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัด โดยธรรมชาติ ความหนาแน่นของน้ำจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ ทำให้น้ำถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำแตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่า “การแบ่งชั้นน้ำ” เนื่องจากอุณหภูมิ น้ำชั้นบนจึงจมตัว ทำให้น้ำชั้นล่างที่มีตะกอน พลิกกลับขึ้นมา จึงทำให้ขุ่นและมีกลิ่นเหม็น