เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 เกิดเพลิงขนาดใหญ่ ณ ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตในกองเพลิง 15 ราย สูญหายกว่า 400 ราย และไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 45,000 ราย

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศระบุว่า ไฟไหม้กินพื้นที่ค่ายผู้อพยพถึง 4 ส่วน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพประมาณ 124,000 คน เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่อาจอยู่ใต้ซากปรักหักพัง รวมถึงยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้

ในขณะที่มีบทสัมภาษณ์จาก นายไซฟุล อารากานี ซึ่งเป็นช่างภาพและหัวหน้าทีมอาสาสมัครในค่าย นอกจากจะเป็นผู้วิ่งฝ่ากองเพลิงโหมกระหน่ำเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิตในค่ายแล้ว เขายังได้บันทึกภาพเหตุการณ์สุดสะเทือนใจครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้ไว้อีกด้วย

ไซฟุลได้ให้สัมภาษณ์ว่า เวลาหลังจาก 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (หรือ 16.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ตอนที่แม่ของเขาเพิ่งออกไปนอกบ้าน เขาก็เริ่มสังเกตเห็นควันสีดำพวยพุ่งและเปลวเพลิงสีเหลืองอยู่ห่างออกไปกว่า 2 กิโลเมตร เขาจึงรีบขึ้นแท็กซี่ไปยังจุดเกิดเหตุโดยทันที

ที่นั่นมีฝูงชนจำนวนมากมารวมตัวกันอยู่แล้ว หลายคนกำลังพยายามคาดเดาว่าต้นเพลิงมาจากทิศทางไหน เขาเห็นคนกำลังหนีออกมาจากบ้านกรีดร้อง ‘ช่วยแม่ฉันด้วย ช่วยพี่สาวฉันด้วย ช่วยลูกเมียฉันด้วย’ มันวุ่นวายมากแต่ไม่มีใครรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง

เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินยังคงอยู่ห่างออกไป เขาพร้อมกับผู้ลี้ภัยกลุ่มเล็ก ๆ ได้ฝ่าเข้าไปในกลุ่มควันและเริ่มหาผู้รอดชีวิต เขาเริ่มถ่ายรูปแต่ไม่อาจหยุดร้องไห้ได้เลย ผู้คนกำลังไหม้กลายเป็นเถ้าถ่านต่อหน้าต่อตา และอีกหลายคนเสียชีวิตแล้ว

ไซฟุลกล่าวว่า “ผมเห็นผู้คนเหมือนผมกำลังกลายเป็นเถ้าถ่าน ผมอยากจะช่วยเหลือพวกเขา ผมอยากจะช่วยชีวิตพวกเขา แม้ว่าผมจะต้องตาย” 

ไซฟุลได้ช่วยเหลือทารกหลายคน แบกหญิงชราและผู้ชายหลายคน ทั้งพาดบนแขนสองข้างและบนบ่า หลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส

เขารู้สึกสะเทือนใจกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขามาก แต่จิตใจของเขาก็สงบลงมาบ้างจากการที่เขาสามารถช่วยให้คนหลายร้อยคนปลอดภัย

“ผมสงสัยว่า ผมจะนอนหลับไหมคืนนี้ เสียงร้องของเด็ก ๆ เหล่านั้นและผู้หญิงที่ไม่มีใครช่วย ยังคงกึกก้องอยู่ในหัวของผม ผมหวังแต่เพียงว่า ผมจะสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้มากกว่านี้”

และไซฟุลยังกล่าวอีกด้วยว่า หลังจากที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้มานานกว่า 4 ปี เขารู้ซึ้งดีว่าการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างไร และนั่นคือเหตุผลที่เขาต้องพยายามช่วยชีวิตคนไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้