เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

แป้งเด็กชื่อดังไม่รอดพ้นข่าวฉาวอีกแล้วหลังคณะลูกขุนที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ ของสหรัฐฯ มีคำสั่งเมื่อ 5 เม.ย. ให้บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และบริษัท อิเมอรีส์ เอสเอ ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบผลิตแป้ง ต้องจ่ายค่าเสียหายรวม 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,155 ล้านบาท) ให้กับนายสตีเฟน แลนโซและภรรยา

นายสตีเฟน แลนโซ ชาวรัฐนิวเจอร์ซีย์ อ้างว่า เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด หลังหายใจสูดดมฝุ่นซึ่งเกิดการใช้แป้งโรยตัวของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นประจำ 46 ปี (นับตั้งแต่เกิดเมื่อปี 1972) มะเร็งชนิดดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสแร่ใยหิน โดยจะส่งผลเสียต่อเนื้อเยื่อบุโพรงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งส่วนมากจะพบที่ปอด แต่อาจพบที่ช่องท้องหรือส่วนอื่นของร่างกายได้ด้วย

คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณานาน 2 เดือน ก่อนคณะลูกขุนมีคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 936 ล้านบาท) แก่นายแลนโซ และอีก 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 218 ล้านบาท) แก่ภรรยาของเขา โดยบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายร้อยละ 70 และบริษัท อิเมอรีส์ เอสเอ ซึ่งเป็นผู้จัดหาแร่ทัลก์ ต้องรับผิดชอบร้อยละ 30

โทรทัศน์คอร์ทรูม วิว เน็ทเวิร์ค รายงานว่า ในวันอังคารหน้า (10 เม.ย.) คณะลูกขุนจะพิจารณาต่อว่าจะสั่งปรับบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ฝ่ายโจทก์

ด้านบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และระบุว่าแป้งเด็กจอห์นสันไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหินและไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง รวมถึงระบุในแถลงการณ์ว่าผิดหวังกับคำตัดสินนี้ แต่จะไม่ขอให้ความเห็นใด ๆ เพิ่มเติมจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด

นางเกวน ไมเออร์ส์ โฆษกของบริษัท อิเมอรีส์ เอสเอ กล่าวว่า ทางบริษัทจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป และมั่นใจว่าแร่ทัลก์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของมะเร็งในกรณีของนายแลนโซ

ส่วนคู่สามีภรรยาแลนโซ ไม่ได้ให้ความคิดเห็นกับผู้สื่อข่าว

บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กำลังถูกฟ้องร้องในอีก 6,610 คดีทั่วประเทศสหรัฐฯ โดยโจทก์ส่วนใหญ่อ้างว่าทางบริษัทไม่ได้เตือนผู้บริโภคหญิง ถึงความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่จากการใช้ผลิตภัณฑ์แป้งเพื่อดูแลสุขอนามัยของผู้หญิง

ในจำนวนนี้มีห้าคดีที่รัฐมิสซูรี ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีมะเร็งรังไข่ โดยศาลชั้นต้นชี้ว่าบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีความผิดในสี่คดี และสั่งให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์รวม 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9.6 พันล้านบาท) กระทั่งเดือน ต.ค. ศาลอุทธรณ์ที่รัฐมิสซูรี กลับคำตัดสินแรกที่มีค่าปรับ 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.25 พันล้านบาท)