เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อพูดถึงแบบเรียนไทย เรามักจะจดจำแบบเรียนในยุคสมัยของตนเองได้ดียิ่งกว่าใคร ยิ่งได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ยิ่งคุยกันได้ไม่รู้จบ แต่แบบเรียนในยุคสมัยใครก็เป็นยุคสมัยของคนคนนั้น เรารู้แต่แบบเรียนในยุคสมัยของเรา แล้วก็จบ คงจะดี หากเราจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้แบบเรียนไทยในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมันมีเรื่องราว มีที่มาที่ไป ที่เมื่อเราได้เรียนรู้ เราอาจค้นพบว่าแบบเรียนไทย มีอะไรมากกว่าที่เราคิด!

แบบเรียนไทย ยุคที่ 1 ตาหวังหลังโก่ง (แบบเรียนรวมชาติ พ.ศ. 2414-2461)
ยุคนี้เริ่มต้นจากแบบเรียนมาตรฐาน เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนแห่งแรก ใน พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร เมื่อครั้งเป็นหลวงประเสริฐ รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก และแต่งตำราเรียนขึ้นใช้ในโรงเรียน เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ใช้เวลาเรียน 3 ปี จึงจะจบหลักสูตรการศึกษา

แบบเรียนไทย ยุคที่ 2 พ่อหลี พี่หนูหล่อ(แบบเรียนยุคพลเมืองดี พ.ศ. 2464-2474)
ในยุคนี้การศึกษาสมัยใหม่เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาใน พ.ศ. 2464 กำหนดให้เด็กอายุ 714 ปี เข้ารับการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการแต่งแบบเรียนใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปลูกฝังความคิดเรื่องรัฐชาติและพลเมือง ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีของชาติ มีมารยาทดี และมีการศึกษา

แบบเรียนไทย ยุคที่ 3 ป้ากะปู่ กู้อีจู้ (แบบเรียนยุคชาติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475-2500)
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ส่งผลต่อการระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะราษฎรได้ประกาศให้การศึกษาเป็นหนึ่งในหลักหกประการ ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และระบุไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” โดยแบบเรียนที่เป็นที่รู้จักของยุคนี้ คือ แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น แต่งโดยหลวงดรุณกิจวิทูรและนายฉันท์ ขำวิไล เป็นที่รู้จักจากประโยค “ป้ากับปู่ กู้อีจู้”

แบบเรียนไทย ยุคที่ 4 นิทานร้อยบรรทัด (แบบเรียนยุคชาติสถาบัน พ.ศ. 2501-2521)

ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาปรับปรุงเนื้อหาและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน ก่อนจะพิมพ์เล่มแรกใน พ.ศ. 2501 โดยนิทานร้อยบรรทัดมีทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1 บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2 ครูที่รักเด็ก ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ตระกูลไทยที่คงไทย และประชาธิปไตยที่ถาวร หนังสือชุดนี้เรียบเรียงโดยหลวงสำเร็จวรรณกิจ เพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับชั้นประถม ตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่น่าจะแต่งเนื้อหาขึ้นในสมัยจอมพล ป. เพราะสะท้อนอุดมการณ์สร้างชาติอย่างเข้มข้น

แบบเรียนไทย ยุคที่ 5 มานะ มานี ปิติ ชูใจ (แบบเรียนยุคชาติคือหมู่บ้านในอุดมคติ พ.ศ. 2522-2533)
แบบเรียนชุดนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะมีเทคนิคการเขียนที่ดี ด้วยการผูกเรื่องราวของตัวละครอย่าง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ให้เติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กนักเรียน โดยใช้ฉากหมู่บ้านในชนบทที่สงบสวยงามตามอุดมคติ โดยแบบเรียนชุดนี้ได้แฝงความคิดเรื่องชาติและหน้าที่ของพลเมืองที่ดีไว้อย่างเข้มข้นไม่แพ้แบบเรียนชุดอื่นๆ โดยเสนอจินตภาพของชาติเหมือนหมู่บ้านขนาดใหญ่ ปราศจากปัญหาเชิงโครงสร้าง มีแต่เพียงปัญหาที่เกิดจากศีลธรรมเสื่อมทราม เช่น ปัญหาการตัดไม้ เพราะความโลภของนายทุนบางคน และการดำเนินชีวิตในแบบเรียนชุดนี้ จะมีความรักชาติบ้านเมืองเป็นแรงผลักดันที่สำคัญอยู่เสมอ

แบบเรียนไทย ยุคที่ 6 กล้า แก้ว กับ ใบบัว ใบโบก และเด็กชายภูผา
กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาอีกครั้ง ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) และเริ่มใช้แบบเรียนชุด “กล้า แก้ว” ใน พ.ศ. 2537 เป็นแบบเรียนที่เน้นภาพประกอบสีสันสวยงาม และตัวหนังสือขนาดใหญ่ อ่านง่ายเหมือนหนังสือภาพสำหรับเด็ก

แบบเรียนไทย ยุคที่ 7 ภาษาพาที (แบบเรียนยุคปัจจุบัน)

ในปีพ.ศ. 2551 แก้วกับกล้าก็ได้จบการศึกษาไปจากโรงเรียนประถม กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หนังสือแบบเรียนภาษาไทยชุดใหม่ชื่อ “ภาษาพาที” โดยมีตัวละครหลักเป็นเด็กชายภูผา กับช้างเพื่อนรักอีก 2 ตัวคือใบโบกและใบบัว นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จึงมีการพัฒนาแบบเรียนชุดนี้ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบดิจิตอลให้เด็กๆ สามารถดูการ์ตูนอนิเมชั่นประกอบบทเรียนในแต่ละบทได้