เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

9 พ.ค 67 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรค กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคําสั่งยุบพรรคก้าวไกล

โดยนายพิธา กล่าวว่า ตนมี 9 ข้อต่อสู้ในคดียุบพรรค โดยจะแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ ดังนี้ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ตนขอยืนยันในสิ่งที่พวกเราต่อสู้ตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ ในเรื่องขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุชัดเจนว่า อำนาจเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจ 3 ข้อต่อไปนี้ 1.พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ 3.หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ซึ่งพวกตนได้ศึกษารัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจข้อไหนที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสิทธิการเมือง และอะไรที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการ แต่ไม่ใช่บ่อเกิดอำนาจที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจมากกว่า 3 ข้อนี้

2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกร้อง นั่นคือพรรคก้าวไกล รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานของตนแต่อย่างใด คดียุบพรรคก้าวไกลต่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ ในเรื่องของระเบียบและหลักเกณฑ์ของกกต.

สิ่งที่เราถูกร้อง กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ซึ่งระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น แต่ประเด็นทางกฎหมาย มาตรา 92 ต้องประกอบกับมาตรา 93

ซึ่งมาตรา 92 คือข้อหา มาตรา 93 คือวิธีพิจารณา เพราะมาตรา 93 ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนของพรรคการเมืองใด กระทำตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยาน หลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

ซึ่งมาตรา 92 และ 93 ไม่ได้แยกออกจากกันเป็นเอกเทศ หากจะมีการพิจารณาคดีที่มีผลกระทบสูงขนาดนี้ ต้องพิจารณากฎหมายอย่างครบถ้วน ต้องใช้มาตรา 92 ประกอบกับมาตรา 93 เท่านั้น ซึ่งในมาตรา 93 ระบุชัดเจนว่า การรวบรวมข้อมูลที่จะยื่นยุบพรรคนั้น ต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการ หลักเกณฑ์และวิธีของกกต.

ในการยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค อย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคก้าวไกล มีความแตกต่างกัน โดยหลักเกณฑ์และวิธีของกกต. เกี่ยวกับมาตรา 93 ได้เปลี่ยนไปในเดือนก.พ. 2566 สมัยพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติไม่มีเกณฑ์นี้

โดยในระเบียบ กกต. 2566 ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 7 ว่า การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บุคคลและคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้ง ต้องให้ผู้ร้องหรือพรรคการเมือง มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา

ในข้อ 9 ระบุว่า เมื่อนายทะเบียนพิจารณาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว มีหลักฐานอันสมควร ก็ให้คณะกรรมการเห็นชอบ จึงค่อยส่งหลักฐานให้กับกกต. อีกรอบ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น พรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง หรือนำพยานหลักฐานไปชี้แจงกับกกต. ฉะนั้น การยื่นคำร้องคดีนี้ขัดต่อระเบียบที่กกต.ตราขึ้นเอง และการยื่นคำร้องในครั้งนี้จึงไม่ชอบให้กฎหมาย

 

ข่าวที่น่าสนใจ