เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 6 ส.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุรัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท

ก่อนเข้าสู่การพิจารณา นายนิรุตติ สุทธินนท์ สว. เสนอให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในข้อที่ 138 โดยไม่ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม แต่น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สว.ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก งบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเป็นเงินกู้ทั้งหมด จึงขอให้ที่ประชุมได้ทบทวน

ด้านนายกมล รอดคล้าย สว. สนับสนุนข้อเสนอของนายนิรุตติ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงต้องลงมติ ก่อนที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 161 เสียง ต่อ 17 เสียง เห็นชอบตามข้อเสนอของนายนิรุตติ ที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ไม่ต้องตั้งกมธ.วิสามัญ แต่ให้พิจารณาด้วยกมธ.เต็มสภา 3 วาระรวดในวันเดียว

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า การประชุมวุฒิสภาวันนี้ มี สว.สวมชุดไทย หรือใส่เสื้อสีน้ำเงิน มาประชุมเป็นจำนวนมาก

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงเหตุผลว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท

สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามร่างพ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ.2567 มีดังนี้ คือ 1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เม.ย.2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของจีดีพี ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พ.ค.2567 มีจำนวน 3.9 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวมถึงแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตามพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.60 ล้านล้านบาท แม้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตามพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น

แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 2567 จำนวน 9.76 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 8.07 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย

หลังจากที่แถลงเสร็จ นายกฯ ได้เดินทางกลับทันทีเพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล