เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 9 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รายงานผลการศึกษาว่า กมธ.ใช้เวลาทำงานศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว 15 วัน และมีข้อสังเกตถึงรัฐบาล 8 หัวข้อ ดังนี้

1.แนวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รัฐบาลควรเร่งทำงาน 3 เรื่อง คือการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และการเร่งรัดการลงทุนในโครงการลงทุน รัฐบาลควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และการรักษาพื้นที่ทางการคลัง และปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์

2.ความเสี่ยงทางการคลังในการจัดทำงบ รัฐบาลมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายมาตลอด ทำให้สัดส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยอยู่ในระดับสูงขึ้นตามไปด้วย กมธ.จึงมีข้อสังเกตว่าการจัดทำงบ สุ่มเสี่ยงต่อเพดานกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด จากการจัดเก็บรายได้ที่ได้น้อยกว่าประมาณการทำให้พื้นที่การคลังมีจำกัด ดังนั้น รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพจัดเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ประมาณการ และกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ

3.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่ปี 62-65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่หากรัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นผ่านกู้เพื่อชดเชย แต่การชำระต้นเงินกู้จะทำให้ยอดลดลงไม่มาก ทำให้การรักษากรอบวินัยการเงินการคลังสุ่มเสี่ยง ดังนั้น รัฐต้องจัดงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0

4.ประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงหรือใกล้เคียงกับรายจ่าย การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รัฐบาลจำเป็นต้อนขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้มีผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน สร้างรายได้ท่องเที่ยว เป็นต้น

5.การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รัฐบาลควรหาแนวทางเพื่อลดจำนวนเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และต้องรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง ให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมถึงหลีกเลี่ยงนโยบายหรือโครงการที่จะส่งผลให้ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่สูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้การจัดทำงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

6.การจัดทำงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนงบประมาณกับยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำแผนงานหรือโครงการ และจัดสรรงบประมาณให้กับแผ่นแม่บท และควรกำกับติดตาม รวมถึงควรจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับคำนิยามของแผนงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

7.เพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายและการกันเงินเหลื่อมปี ปี68รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ หรือเร่งรัดการบเบิกจ่าย เพื่อให้เม็ดเงินของรัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

8.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเชิงพื้นที่ ควรพิจารณาจัดสรรงบให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเต็มกรอบวงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท จัดทำแผนงานพัฒนาจังหวัด ไม่ควรกำหนดรูปแบบให้เหมือนกันทุกจังหวัด แต่ควรให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนให้เหมาะสมกับทิศทางตามศักยภาพพื้นที่

จากนั้นเวลา 11.00 น. น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. อภิปรายว่า ในส่วนงบกระทรวงกลาโหม งบซื้ออาวุธ งบเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการผู้บังคับบัญชา ขอให้ลดลง นายพลทั้งหลายรับให้น้อยลง เกลี่ยให้ทหารชั้นผู้น้อยบ้าง ทหารชั้นผู้น้อยอยู่ชายแดนได้รับสวัสดิการยังไม่เต็มที่ อาหารก็แทบจะไม่มี

เขาไม่อยากได้ถาดหลุมแพงๆ เขาอยากได้อาหารดีๆ ที่ครบ 5 หมู่ ดังนั้น การใช้งบ ควรต้องมีหลักธรรมาภิบาล คือ โปร่งใส ไม่ใช่ทำอะไรลึกลับ ความซื่อสัตย์ สุจริต ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในสิ่งที่ซื้อมาว่าใช้ได้จริงหรือไม่

น.ต.วุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนงบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่ปลัดกระทรวง ก็ไม่ใช่นักไอที แต่ที่ได้เป็นเพราะอาวุโสถึง แล้วมาจากกระทรวงอื่น ซึ่งจะะเห็นได้ว่ากระทรวงนี้ขาดนักเทคโนโลยี รวมถึงปัญามิจฉาชีพที่ตอนนี้มีทั่วไปหมด มีใครไม่เคยได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพบ้าง

ดังนั้น ควรบูรณาการระหว่างกระทรวงดีอี ธนาคาร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คือ กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ เมื่อไหร่จะตื่นขึ้นมาทำงาน ตอนนี้ลองไปแจ้งความดู จะเป็นคดีที่ 5 แสน เมื่อไหร่เสร็จก็ไม่ทราบ ท่านอาจจะอ้างว่ากฎหมายมีความล่าช้า ซึ่งก็สามารถแก้ได้ก็บอกมาว่าต้องแก้มาตราไหนเราจะช่วยแก้ให้