เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณี ที่กระทรวงการคลังกำลังจะออกกฎหมายฉบับใหม่ บังคับให้ธนาคารทุกแห่งตรวจสอบบัญชีเงินฝากของประชาชน หากพบบัญชีใดไม่มีการทำธุรกรรม (ฝากถอนโอนเงิน) ติดต่อกันเกิน 10 ปี ให้ธนาคารผู้รับฝากเงินแจ้งต่อเจ้าของบัญชี หรือทายาทให้มาดำเนินการปิดบัญชี หากเจ้าของบัญชีหรือทายาท ไม่มาแสดงตัวตามกำหนดเวลา ธนาคารต้องนำเงินที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวโอนให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ครอบครอง

สำหรับเงินบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว หมายถึง บัญชีที่ไม่มีการฝากถอนหรือโอน เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยเริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคมของปีถัดจากวันสุดท้ายที่บัญชีมีการเคลื่อนไหว ซึ่งการที่บัญชีเงินฝากไม่มีการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่มีการบริหารจัดการบัญชี รัฐบาลจึงอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของบัญชีในการติดตามและสืบค้นเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ให้ไปฝากที่บัญชีเงินคงคลัง ซึ่งเป็นแหล่งรับฝากเงินที่มีความปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเงินต้นของบุคคลเจ้าของบัญชี

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเงินฝาก ออกเป็น 2 แนวทาง คือ

1. กรณีบัญชีเงินฝาก มียอดเงินฝากคงเหลือน้อยกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ธนาคารสามารถเรียกเก็บค่าบริการรักษาบัญชีเงินฝากได้ ส่วนใหญ่ธนาคารจะกำหนดยอดขั้นต่ำไว้ที่ 2,000 บาท และเก็บค่าบริการรักษาบัญชีจนกระทั่งเงินในบัญชีหมดไป

2. กรณีบัญชีเงินฝาก ที่ไม่เคลื่อนไหวมียอดเงินฝากคงเหลือสูงกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บบริการรักษาบัญชีเงินฝากสำหรับเงินในส่วนนี้ได้ ทางธนาคารต้องแจ้งยอดเงินฝากให้ลูกค้าทราบ หากยังไม่ติดต่อกลับ ธนาคารจะแยกเงินในบัญชีนี้ออกเป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว และที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์จากเงินในส่วนนี้ ผ่านการรับรู้เงินในบัญชีดังกล่าวเป็นรายได้

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ และกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงกรณีกฎหมายริบเงินฝากเข้าคลัง หากบัญชีธนาคารไม่เคลื่อนไหวเกิน 10 ปี ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ฝากเงินและทายาท เนื่องจากผู้ฝากเงินอาจมีบัญชีเยอะแล้วบังเอิญว่าลืม หรือทายาทของผู้ที่ฝากเงินไว้เสียชีวิต พวกเขาเหล่านี้จะต้องไม่เสียสิทธิ

“สำหรับเรื่องนี้ ควรให้แบงก์ชาติเป็นผู้ดำเนินการจะดีกว่า สำหรับประชาชน แนะให้เรียนรู้บริหารจัดการเงินฝากให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากรวบรวมเงินมาได้จำนวนหนึ่ง ควรนำมาใช้หนี้กองเงินฟื้นฟู เพราะหนี้กองเงินฟื้นฟู เป็นหนี้ที่ดูแลผู้ฝากเงินเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่วิกฤติการณ์ปี 40 ฉะนั้นเงินเหล่านี้จะเกี่ยวกับเงินฝาก ก็ควรนำไปจัดการปัญหาตรงนี้ น่าจะดีที่สุด” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายบุญสม ดีสงบ ผู้บริหารศูนย์ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยความคิดเห็นเรื่องกฎหมายริบเงินฝากเข้าคลัง ว่ากฎหมายฉบับใหม่นั้น จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีการหมุนเวียนเงินมากขึ้น ซึ่งการหมุนเวียนเงินนั้น จะทำให้ประเทศชาติมีรายได้

“ส่วนมูลค่าของเงิน สามารถนำไปลงทุนได้ ไม่ควรเอาไว้เฉยๆ คือการแช่เงินเอาไว้จะไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยกระตุ้นให้คนใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อเป็นการหมุนเวียนเงิน ซึ่งรัฐบาลควรต้องชี้แจ้งกับประชาชน เรื่องการหมุนเวียนของเงินให้มากกว่านี้ รวมทั้งชี้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการยึดให้ชัดเจน”

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ประโยชน์ที่คาดว่าประชาชนจะได้รับ คือมีฐานข้อมูลออนไลน์ในการสืบค้นเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของตนเองหรือของบุคคลอื่นในฐานะทายาทเพื่อขอเงินคืนได้ ซึ่งหากไม่มีการจัดทำระบบการค้นหาข้อมูลข้างต้น ประชาชนอาจจะลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ และหากประชาชนต้องการสืบค้นข้อมูลก็ไม่สามารถทำได้ในทันที

ทั้งนี้ ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และอเมริกา เป็นต้น โดยจะนำเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว มาบริหารจัดการเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุ และกันเงินอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับคืนเงินแก่ประชาชนที่มาขอเรียกเงินคืน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง จะบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบเงินต้นที่ประชาชนมีสิทธิมาขอเรียกคืนได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ระหว่างวันที่ 24 ต.ค.-14 พ.ย.60 โดยสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ทาง Fax 0-2618-3366 หรือ fpo.hearing@gmail.com

ที่มา – ไทยรัฐ